สนช (NIA) และ HUAWEI Thailand ร่วมพัฒนากำลังคนและบ่มเพาะสตาร์ทอัพ
นายปริวรรต กล่าวถึงกรอบความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก สนช. (NIA) และหัวเว่ย ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของกำลังคน เพื่อสังคมนวัตกรรมที่ยั่งยืน ณ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด เมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนตุลาคม 2562 มีประเด็นสำคัญคือการร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศทางด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และภาคเอกชน ร่วมกันพัฒนาบุคลากร ยกระดับขีดความสามารถ ทักษะดิจิทัล และนวัตกรรม เช่น บิ๊กดาต้า (Big data) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยี 5G และบริการที่มาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทั้งแบบใช้สายและไร้สาย
นายวรกาน กล่าวว่า หัวเว่ย ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ สนช. (NIA) จัด “โครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G” ขึ้นเป็นปีที่ 3 เพื่อให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ผ่านการส่งมอบความรู้ในระดับสากลและหลักสูตรการอบรมชั้นนำอย่าง Huawei ASEAN Academy ประเทศไทย รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ผนวกเข้ากับธุรกิจต่างๆ (5G Technology Mentoring) เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพเข้าใจในเทคโนโลยีมากขึ้นและสามารถนำไปประยุกต์ใช้และยกระดับแผนธุรกิจได้จริง จากการเข้ารับฟังแผนธุรกิจของหลายๆ เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในปีนี้ พบว่าบริษัทส่วนใหญ่มีความเข้าใจในศักยภาพและประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี 5G มากขึ้น และมีแนวคิดในการประยุกต์รวมเทคโนโลยี 5G เข้ากับผลิตภัณฑ์ การบริการ หรือแผนธุรกิจในระยะสั้นหรือระยะยาวได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถนำมาประกอบเข้ากับความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศไทย สำหรับเทคโนโลยี 5G ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในอาเซียนในการวางโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญ และยังเป็นผู้นำด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคสาธารณสุข ภาคการศึกษา ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และการสร้างระบบนิเวศด้านเทคโนโลยี 5G ในด้านการบ่มเพาะบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G
สำหรับกิจกรรม DEMO DAY ในงาน ‘Startup Thailand Club’ ครั้งที่ 6 ในวันที่ 2 กันยายน 2564 ภายใต้หัวข้อ 5G Technology เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และอัพเดทเทรนด์ล่าสุดของเทคโนโลยี 5G ที่จะมาช่วยยกระดับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ทันสมัยและหลากหลายในอนาคต จากวิทยากรภาครัฐ เอกชน และกลุ่มนักลงทุนจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม ดร.ณัฐนรินทร์ เนียมประดิษฐ์ CEO, Lean Business Design Thailand ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการค้าส่งเสริมพัฒนาธุรกิจ เอสเอ็มอี คุณคณิศรา กาญจนวงศ์ Senior Fund Management and Business Development Manager, Beacon VC คุณอมฤต เจริญพันธ์ Angel Investor / Advisor / Board และ Co-founder of Techsauce / HUBBA และคุณอัฐพงศ์ ชูละออง 5G Solution Architect บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ปิดท้ายด้วยการนำเสนอผลงานจากผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G จำนวน 4 ราย มาพร้อมกับผลงานที่ได้รับการพัฒนาแผนงานธุรกิจและการใช้เทคโนโลยี 5G ได้แก่ ระบบสร้างห้องแรงดันลบ และควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT สำหรับการทำ home isolation โดยบริษัท เอ็นอาร์จีแทรค จำกัด การส่งเสริมการขายเสมือนจริง ทำงานผ่านจอ Interactive 5G Network โดยบริษัท โปร-ทอยส์ จำกัด แพลทฟอร์มสำหรับการเรียนการสอนดนตรีที่ผู้ปกครองติดตามพัฒนาการของเด็กๆ ได้ โดยบริษัท บีเอ็นเค มิวสิคมอล จำกัด และระบบ Telemedicine สำหรับโรงพยาบาลสัตว์ โดยบริษัท เพ็ท พอว์ จำกัด
นายปริวรรต กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปีนี้ สนช. (NIA) นอกเหนือจากการอบรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G (Deep Tech Startup) ยังเพิ่มกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G (Pre-incubator) ในการบ่มเพาะผู้ประกอบการนวัตกรรมและสตาร์ทอัพผ่านการจัดกิจกรรมให้คำปรึกษา (Mentorship) เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ ที่นำเทคโนโลยี 5G มาใช้ เข้าร่วมนำเสนอผลงานในกิจกรรม DEMO DAY ความร่วมมือระหว่าง สนช. (NIA) และ HUAWEI Thailand ในโครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G มุ่งส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นและผู้ประกอบการนวัตกรรมในระยะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G (Pre-incubator) และผลักดันเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น (Incubation program) โดยอบรมเรียนรู้ในเรื่อง 5G Network, Cloud Service & IoT Synergy Program รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ NIA เป็นการพัฒนาขีดความสามารถของสตาร์ทอัพให้สามารถขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต และกล่าวฝากถึงสตาร์ทอัพหน้าใหม่ว่า ขณะนี้สถานการณ์ของสตาร์ทอัพทั่วโลกเกิดการชะลอตัวในการระดมทุนจากวิกฤตของโควิด-19 ดังนั้นสตาร์ทอัพควรปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี เรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ อาทิ 5G, Cloud, IoT เข้ามาปรับใช้เพื่อความอยู่รอดและสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่เพื่อการเติบโตต่อไป
# # #