กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จับมือหัวเว่ย สานต่อความร่วมมือด้านเทคโนโลยีคลาวด์ในเชิงลึก

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการด้านบริการคลาวด์ของรัฐ พร้อมขยายการเติบโตของอีโคซิสเต็ม เพื่อดึงดูดการลงทุนและผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลแห่งอาเซียน
2022.02.25

(ในภาพจากซ้าย) นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด, และนายเควิน เฉิง ประธานกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

กรุงเทพฯ, 25 กุมภาพันธ์ 2565 – กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงในการสานต่อความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน ในการเสริมประสิทธิภาพระบบคลาวด์ พร้อมเสริมแกร่งให้กับศักยภาพด้านการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศไทย รวมถึงการนำโปรแกรมพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัลของหัวเว่ยมาใช้ในการอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลของรัฐบาลไทยภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อร่วมกันสร้างอีโคซิสเต็มคลาวด์ที่มีความพร้อม และนำไปสู่รากฐานของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลให้กับประเทศไทย

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ได้กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผมขอขอบคุณทุกท่านสำหรับความทุ่มเทและความอุตสาหะที่ทำให้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ฉบับนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลฯ และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในการนี้ ทางรัฐบาลยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ แก่นโยบายด้านการเน้นเรื่องเทคโนโลยีคลาวด์เป็นอันดับแรก ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯและบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ การวิจัยเชิงนวัตกรม การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ภาครัฐของเรายังจะได้พัฒนาทักษะและต่อยอดความรู้ด้านเทคโนโลยีคลาวด์ที่ศูนย์นวัตกรรมร่วมด้านซอฟต์แวร์อีกด้วย ตอนนี้ประเทศไทยได้ขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G ในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยมีคลาวด์เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านดิจิทัล และในอนาคตอันใกล้นี้ ผมหวังว่าเราจะได้เห็นประชาชนชาวไทยสามารถเข้าถึงการให้บริการจากภาครัฐผ่านอุปกรณ์ทุกชนิด”

จุดเริ่มต้นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

“นับตั้งแต่มีการลงนามครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 เราได้มีความร่วมมือกับหัวเว่ยผ่านโครงการต่างๆ จนมีการสานต่อในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น โดยวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กระทรวงดิจิทัลฯและหัวเว่ย ในครั้งนี้จะว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีคลาวด์ให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้น ผ่านโครงการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและนวัตกรรม รวมไปถึงการพัฒนาทักษะของบุคลากร ความร่วมมือนี้ยังมุ่งหวังที่จะเร่งการเปลี่ยนผ่านบริการของรัฐบาลจากแบบดั้งเดิมสู่ระบบคลาวด์ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงและยกระดับบริการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน ทางกระทรวงขอขอบคุณหัวเว่ยสำหรับการสนับสนุนในระดับมืออาชีพเสมอมา เราจะส่งเสริมระบบคลาวด์สำหรับรัฐบาลเพื่อพัฒนาไปสู่ระบบที่ “ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล” และการโอนถ่ายข้อมูลภายในระหว่างหน่วยงาน นอกจากนี้ เราจะร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์สำหรับรัฐบาล โดยใช้เทคโนโลยีคลาวด์ระดับชั้นนำจากหัวเว่ย รวมถึงข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data), ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT เพื่อเพิ่มความหลากหลายและความสามารถในการให้บริการเชิงลึกให้แก่หน่วยงานของรัฐและสังคม”

รายละเอียดบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

นายชัยวุฒิ ยังเน้นย้ำถึงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือซึ่งรวมไปถึงการอบรมบุคลากรเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลในด้านของคลาวด์, ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data), ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบ IoT พร้อมทั้งเสริมทักษะในด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นให้แก่บุคลากรของรัฐจำนวน 2,000 คน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลักดันเศรษฐกิจและสังคม

ความร่วมมือในครั้งนี้ยังจะรวมไปถึงการปรับโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์สาธารณะ เพื่อรองรับความต้องการและให้การบริการแก่ผู้ใช้งานในส่วนของภาครัฐที่มากยิ่งขึ้น ผลักดันการให้บริการสาธารณะผ่านระบบคลาวด์ของรัฐ ที่สำคัญ ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งเน้นที่จะร่วมกันเร่งสร้างอีโคซิสเต็ม (ระบบนิเวศดิจิทัล / Digital Ecosystem) ในวงกว้างนอกเหนือจากหน่วยงานรัฐ รวมถึงพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรม สตาร์ทอัพ ธุรกิจ SMEs และมหาวิทยาลัย เพื่อนำโซลูชันไปใช้ในอุตสาหกรรมแนวดิ่ง ทั้งนี้ ยังมีพันธมิตรจากหัวเว่ย คลาวด์ กว่า 20,000 รายทั่วโลก ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ และหัวเว่ยจะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เหล่านี้ในการพัฒนาดิจิทัลอีโคซิสเต็ม (ระบบนิเวศดิจิทัล / Digital Ecosystem) ชั้นนำที่เปิดกว้างเพื่อทุกฝ่ายจะสามารถทำงานร่วมกันได้

เป้าหมายในการเติบโตของหัวเว่ยในประเทศไทย และการลงทุนในระบบคลาวด์

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เรารู้สึกซาบซึ้งและได้รับแรงกระตุ้นจากการสนับสนุนและความไว้วางใจของรัฐบาลไทยที่มีต่อหัวเว่ยอย่างต่อเนื่อง ในฐานะพาร์ทเนอร์ด้าน ไอซีทีที่ไว้วางใจได้และเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี หัวเว่ย คลาวด์ ให้บริการในประเทศไทยมากว่า 3 ปี เสริมศักยภาพให้แก่พาร์ทเนอร์กว่า 300 ราย ในกว่า 15 อุตสาหกรรม เราภูมิใจที่เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลกรายแรกที่เปิดตัว Available Zone (AZ) ในประเทศไทย และเป็นรายเดียวที่มี AZ สามแห่งตั้งอยู่ที่นี่ นอกจากนี้ ในฐานะที่เรามุ่งมั่นสนับสนุนสังคมอย่างต่อเนื่อง หัวเว่ยจะยังคงส่งเสริมศักยภาพของอีโคซิสเต็มให้แก่ SMEs และบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่ประเทศ ผ่านการริ่เริ่มโครงการต่างๆ ซึ่งรวมถึงโปรแกรมการแข่งขัน Huawei Spark Ignite, Huawei ASEAN Academy และ Seeds for Future ด้วยเป้าหมายความสำเร็จต่างๆ ในวันนี้ จะเร่งให้เกิดการใช้งานบริการคลาวด์และเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย และขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลแห่งอาเซียน และทำให้เกิดโลกอัจฉริยะที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างสมบูรณ์ได้ในที่สุด”

จุดแข็งของ HUAWEI CLOUD

นายอาเบลยังเน้นย้ำถึงจุดแข็งของหัวเว่ย คลาวด์ ในฐานะผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะระดับโลกรายแรกที่เปิดให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ถึงสามแห่งในประเทศในไทย ซึ่งหมายความว่าธุรกิจในไทยสามารถใช้งาน หัวเว่ย คลาวด์ ได้ด้วยความพร้อมในการให้บริการสูง และค่าความหน่วง (latency) ของการส่งผ่านข้อมูลที่ต่ำกว่า รวมถึงปกป้องและจัดเก็บข้อมูลที่มีความเสี่ยงภายใต้กฏหมายไทย นอกจากนี้ เขายังเน้นถึงบริการคลาวด์สาธารณะที่ปลอดภัยของหัวเว่ย ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกและได้การรับรองจากกว่า 90 มาตรฐานทั่วโลก รวมทั้ง ISO27701, ISO29151, ISO27018 และ CSA STAR ซึ่งถูกต้องตามข้อกำหนดของพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย และยังชูจุดแข็งของทีมหัวเว่ย คลาวด์ ในประเทศซึ่งสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับทั่วโลกได้อย่างไร้รอยต่อ

รูปภาพเพิ่มเติม

(ในภาพจากซ้าย) นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, และนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

(ในภาพจากซ้าย) นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด, และนายเควิน เฉิง ประธานกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด, และ ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด