อเมริกาต้องมีหัวเว่ย

กรรมการบริหารบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนเตือนการแบนหัวเว่ยจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอเมริกา

แคทเธอรีน เฉิน กรรมการบริหารของบริษัทหัวเว่ย

คำสั่งฝ่ายบริหารที่ลงนามโดยประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (15 พฤษภาคม 2562) อาจปูทางไปสู่การสั่งห้ามจำหน่ายอุปกรณ์ของหัวเว่ยในสหรัฐอเมริกาด้วยการประกาศ “ภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ”  ยิ่งไปกว่านั้น วิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ยังได้ออกคำสั่งห้ามหัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์โทรคมนาคมชั้นนำของโลก ซื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์และเทคโนโลยีจากบริษัทอเมริกันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งคำสั่งจะมีผลตั้งแต่วันนี้ (17 พฤษภาคม 2562) เป็นต้นไป

การตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่กำหนดให้บริษัทอเมริกันต้องมีใบอนุญาตพิเศษในการจำหน่ายชิ้นส่วนอุปกรณ์แก่หัวเว่ย อาจทำให้หัวเว่ยซื้อชิ้นส่วนสำคัญสำหรับอุปกรณ์สวิทชิ่งเครือข่ายและสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยได้ยากขึ้น หรือไม่สามารถซื้อได้เลย อย่างไรก็ตาม การแบนหัวเว่ยก็จะไม่ช่วยให้เครือข่ายอเมริกามีความปลอดภัยมากขึ้น แต่กลับจะสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวอเมริกันและธุรกิจโดยทั่วไป เพราะจะทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นนำ อีกทั้งลดการแข่งขันในตลาด และทำให้สินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ การสั่งห้ามดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของลูกจ้างชาวอเมริกันหลายพันคนในบริษัทที่ทำธุรกิจกับหัวเว่ย ซึ่งซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทอเมริกันมากกว่า 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี  และการแบนไม่ให้ใช้อุปกรณ์หัวเว่ยทั้งหมดอาจส่งผลให้คนอเมริกันหลายหมื่นคนต้องตกงาน

เนื่องจากอุปกรณ์ของหัวเว่ยติดตั้งอยู่ในเครือข่าย 4G จำนวนมากในพื้นที่ชนบทห่างไกลของสหรัฐฯ การแบนหัวเว่ยก็จะทำให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสัญชาติอเมริกันรายย่อย อาทิ Eastern Oregon Telecom และ Union Wireless ในรัฐไวโอมิง ไม่สามารถพัฒนาบริการใหม่ๆ และจัดหาการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ที่รวดเร็วกว่าให้กับคนหลายล้านคนได้ และโอเปอเรเตอร์เหล่านั้นจะถูกบีบบังคับให้ต้องใช้เงินทุนอันน้อยนิดเพื่อเปลี่ยนจากอุปกรณ์หัวเว่ยไปใช้อุปกรณ์คู่แข่งที่ราคาแพงกว่า (ซึ่งมีอยู่สองรายคือ อีริคสัน และโนเกีย ที่ต่างไม่ใช่บริษัทอเมริกัน)

หัวเว่ยได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี 5G  การกีดกันหัวเว่ยออกจากตลาดอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯจะไม่สามารถก้าวทันประเทศอื่นๆ ในการเปิดใช้บริการเครือข่าย 5G ได้ และสหรัฐฯอาจจบลงด้วยการล้าหลังประเทศอื่นๆ ในยุโรปและเอเชียที่วางแผนเตรียมเปิดตัวใช้งานเครือข่าย 5G ทำให้ประเทศยุโรปและเอเชียเหล่านี้กลายเป็นผู้นำการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ให้แก่ประชาชนของพวกเขาอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่สหรัฐฯเคยเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีไร้สาย 4G ได้อย่างรวดเร็วมาแล้ว

และที่สำคัญที่สุด การแบนหัวเว่ยจะไม่ช่วยให้สหรัฐฯบรรลุเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายดิจิทัลของประเทศให้ปลอดภัยมั่นคงยิ่งขึ้นได้เลย

เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีความกังวลใจว่า การใช้อุปกรณ์ของบริษัทสัญชาติจีนอาจเอื้อให้รัฐบาลจีนสามารถปิดระบบโทรศัพท์ ไฟฟ้า ธนาคาร และบริการสำคัญอื่นๆ ได้  ทว่าความปลอดภัยของเครือข่ายโทรคมนาคมเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างโอเปอเรเตอร์ ผู้จำหน่ายอุปกรณ์ และผู้จัดหาบริการในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่น่าเชื่อถือและมีความโปร่งใส  โอเปอเรเตอร์มีหน้าที่ดูแลควบคุมเครือข่ายและข้อมูลที่สัญจรผ่านเครือข่าย  ซึ่งการหลบเลี่ยงมาตรการควบคุมเหล่านี้เป็นไปได้ยากมากเมื่อดูจาก  ขั้นตอนบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีอยู่ หัวเว่ยได้กล่าวย้ำหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า หัวเว่ยไม่ยินยอมที่จะทำตามคำสั่งใดๆ ที่สั่งให้โจมตีหรือสอดแนมข้อมูลของลูกค้าโดยเด็ดขาด

ยิ่งไปกว่านั้น การเจาะจงแบนหัวเว่ยรายเดียวด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่าสำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ในประเทศจีนดูไม่มีเหตุผลมากพอ บริษัทโทรคมนาคมเช่นโนเกียและอีริคสันก็อาศัยระบบซัพพลายเชนทั่วโลกเช่นเดียวกับหัวเว่ย  พวกเขาใช้อุปกรณ์ที่พัฒนาหรือผลิตในประเทศจีนซึ่งเป็นจำนวนอุปกรณ์โทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ที่ติดตั้งในเครือข่ายของสหรัฐฯในตอนนี้  การขึ้นบัญชีดำบริษัทรายเดียวหรือทุกบริษัทจากประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงด้านซัพพลายเชนทั่วโลก แถมยังลดการแข่งขันที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

คำสั่งฝ่ายบริหารและระเบียบข้อบังคับของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีปล่อยมัลแวร์เข้าไปในเครือข่ายโทรคมนาคมที่สามารถแอบตรวจสอบปริมาณการใช้งานเครือข่ายหรือสร้างการโจมตีทางไซเบอร์ได้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่าเครือข่ายการสื่อสารของโลกมีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีจากประเทศที่มีเจตนาแอบแฝงได้ง่าย เช่น โดยการฝังโค้ดโปรแกรมและอาศัยช่องโหว่ในฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ด้วยวิธีการเสมือนจริงต่างๆ แต่รหัสโค้ดดังกล่าวก็สามารถเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ของผู้จำหน่ายอุปกรณ์ใดๆ ก็ได้ทั้งนั้น  ไม่เว้นแม้แต่บริษัทจากประเทศที่ดูเป็นมิตรกับอเมริกาก็ตาม จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่น่าเชื่อถือและมีความโปร่งใสเข้ามาช่วย

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำข้อตกลงกับบริษัทสัญชาติยุโรปอย่างโนเกียและอีริคสันในด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ผ่านการตรวจสอบโดยรัฐบาล และได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจในสหรัฐฯ ได้แม้ว่าพวกเขาจะมีธุรกิจมากมายในประเทศจีนด้วยก็ตาม หัวเว่ยยินดีอย่างยิ่งหากได้รับโอกาสที่จะหารือถึงข้อตกลงที่คล้ายกันนี้

หากทำเนียบขาวและกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ต้องการปกป้องเครือข่ายโทรคมนาคมของประเทศจริงๆ พวกเขาไม่ควรให้ความสำคัญเพียงแค่การห้ามบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ควรกำหนดแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ครอบคลุมซึ่งต้องอาศัยขั้นตอนการปฏิบัติชั้นยอดและได้รับการยอมรับ อันที่จริงแล้ว วิธีนี้เป็นวิธีเดียวกับกลยุทธ์ที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ เคยผลักดันเมื่อปีที่แล้ว ด้วย

ไม่ใช่เฉพาะแค่หัวเว่ยซึ่งเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่การกระทำเพื่อกีดกันบริษัทใดๆ ก็ตามจะทำให้การแข่งขันในตลาดลดลง อีกทั้งชะลอการใช้งาน 5G มีนวัตกรรมน้อยลง และทำให้ผู้บริโภคและธุรกิจของอเมริกาไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าที่สุดของโลกได้ รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ควรละทิ้งแนวทางการบริหารในปัจจุบันและหันมาพัฒนากรอบการทำงานที่โปร่งใสเพื่อทดสอบและรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายสื่อสารอเมริกาทุกส่วนให้ดี

https://www.nytimes.com/2019/05/17/opinion/executive-order-china-huawei-ban.html