มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของหัวเว่ยประเทศไทย

2020.02.03

กรุงเทพฯ 3 กุมภาพันธ์ 2563 — บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพื่อดูแลความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน และไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและสังคมไทย

เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนคำแนะนำจากรัฐบาลจีน รวมถึงทีมป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของบริษัท   หัวเว่ย ประเทศไทย ได้ออกมาตรการป้องกันแก่พนักงานเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว

มาตรการที่สำคัญที่นำมาบังคับใช้ ได้แก่ การงดหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศจีนโดยไม่จำเป็น และหากเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย  ห้ามมิให้เข้าที่ทำงานโดยให้เฝ้าระวังอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการป่วยใด ๆ  ก่อนเข้ามาทำงานอีกครั้ง  รวมไปถึงการดูแลรักษาสุขอนามัยทั่วไปเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และการล้างมือด้วยเจลฆ่าเชื้อโรคทุกครั้งก่อนเข้าสำนักงานและโรงอาหาร บริการแจกหน้ากากอนามัย และการกำหนดให้พนักงานทุกคนและผู้ที่มาติดต่อสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เป็นต้น มาตรการป้องกันเหล่านี้บังคับใช้กับพนักงานทุกฝ่าย รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ด้วย

นอกเหนือจากมาตรการที่ออกมาสำหรับพนักงานและผู้มาติดต่อที่สำนักงานแล้ว หัวเว่ย ประเทศไทย ยังได้มีการจัดอบรมให้ความรู้และวิธีการป้องกันเกี่ยวกับโรคไวรัสโคโรนาโดยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลพญาไท 2 พร้อมทั้งมีการทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ทุกวัน อาทิ ที่จับประตู ลิฟท์ และในส่วนที่ต้องสัมผัสบ่อย ๆ รวมไปถึงการฆ่าเชื้อโรคในอากาศในสำนักงาน โรงอาหาร ตลอดจนยานพาหนะของบริษัท เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคนได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัยตลอดเวลา  นอกจากนี้ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วจะต้องทิ้งลงในถังพิเศษเท่านั้น และบริษัทยังได้กำชับให้พนักงานทุกคนที่ให้บริการหรือซ่อมบำรุงแก่ลูกค้านอกสถานที่ ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเดียวกันด้วย

แผนฉุกเฉินนี้เป็นไปตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่กำหนดขึ้นโดยทีมป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของหัวเว่ยในประเทศจีน โดยบริษัทหัวเว่ยได้มีแผนและนโยบายในการรับมือกับภัยคุกคามของโรคระบาดไว้อย่างครอบคลุม สอดคล้องกับระบบบริหารจัดการความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของบริษัท

ปัจจุบัน ยังไม่พบผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนาในสำนักงานของหัวเว่ยนอกประเทศจีน รวมถึงสำนักงานตัวแทน ศูนย์วิจัย หรือศูนย์บริการต่าง ๆ ของหัวเว่ยแต่อย่างใด