หัวเว่ยประกาศผลประกอบการไตรมาสที่3 ประจำปี 2562

2019.10.16
เชินเจิ้น ประเทศจีน 16 ตุลาคม 2562 หัวเว่ยได้ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2562 ซึ่งหัวเว่ยสร้างรายได้ถึง 610.8 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 24.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยบริษัทมีกำไรรวมสุทธิสำหรับในไตรมาสนี้อยู่ที่ 8.7%.[1]

หัวเว่ยยังคงเน้นพัฒนาด้านโครงสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานไอซีทีและอุปกรณ์อัจฉริยะ และเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยเพิ่มเสถียรภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทและองค์กร ซึ่งช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2562 เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

ในด้านธุรกิจโทรคมนาคม ได้มีการเร่งพัฒนาเครือข่าย 5G เชิงพาณิชย์ทั่วโลก หัวเว่ยยังคงเดินหน้าเปิดตัวโซลูชั่นทางนวัตกรรมใหม่ๆ ร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายชั้นนำ เช่น 5G Super Uplink โซลูชั่น โครงข่ายโทรคมนาคมที่ชาญฉลาดและใช้งานง่าย โดยหัวเว่ยได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายรายในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในอุตสาหกรรมและฐานนวัตกรรมอุตสาหกรรมสำหรับเครือข่ายเทคโนโลยี 5G ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมและการเติบโตกับผู้ให้บริการเครือข่าย

ปัจจุบัน หัวเว่ยได้เซ็นสัญญาเพื่อพัฒนาระบบ 5G กับผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลกแล้วถึง 60 ฉบับ และยังได้ส่งมอบเสากระจายสัญญาณ (Active Antenna Unit - AAUs) 5G Massive MIMO 5G ไปแล้วมากกว่า 400,000 หน่วย การผลิตเครือข่ายนำส่งข้อมูล ข้อมูลการสื่อสาร และผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีต่างๆ ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

ส่วนกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์นั้น บริษัทได้เปิดตัว Huawei Horizon Digital Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีความเชื่อมโยง ครบถ้วน และเปิดกว้างโดยสมบูรณ์ พัฒนาขึ้นจากประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีอันยาวนานของบริษัท โดยหัวเว่ยตั้งเป้าที่จะทำงานร่วมกับลูกค้าและพันธมิตรในการสร้างรากฐานสำหรับโลกดิจิทัล เพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล ที่มีมูลค่ากว่าล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ แพลตฟอร์มนี้ยังสามารถช่วยให้กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ บริการสาธารณูปโภค ธุรกิจการเงิน ระบบขนส่ง และการไฟฟ้า สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

จนถึงช่วงท้ายของไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีบริษัทที่อยู่ในทำเนียบ Fortune Global 500 จำนวน 228 บริษัท และ 58 บริษัทใน 100 อันดับแรก และเมืองอีกกว่า 700 แห่งทั่วโลกที่เลือกหัวเว่ยเป็นพันธมิตรของพวกเขาในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

การพัฒนาบริการคลาวด์ของหัวเว่ยยังคงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในไตรมาสที่ 3 หัวเว่ยได้ประกาศ          กลยุทธ์การประมวลผล พร้อมเปิดตัว Atlas 900 คลัสเตอร์การเทรน AI ที่รวดเร็วที่สุดในโลก รวมถึงนวัตกรรมอื่นๆ อาทิ บริการหัวเว่ยคลาวด์ แอสเซนด์ AI คลัสเตอร์ (HUAWEI CLOUD Ascend AI cluster services) บริการใหม่อีก 112 บริการบนฐานระบบคุนเผิง (Kunpeng) และโปรเซสเซอร์                   แอสเซนด์ (Ascend) รวมถึง Industrial Intelligent Twins โดยผลิตภัณฑ์ได้รับความไว้วางใจจากภาครัฐ ผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต (ISP) อุตสาหกรรมรถยนต์ สถาบันทางการเงิน และอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นอย่างมาก โดยมีผู้ลงทุนและนักพัฒนาจำนวนกว่า 3 ล้านคน ได้เลือกใช้บริการหัวเว่ย คลาวด์ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นของพวกเขา

สำหรับธุรกิจคอนซูเมอร์ของหัวเว่ย ในส่วนของสมาร์ทโฟนก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง โดยมียอดการจัดส่งสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีรวมมากกว่า 185 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นกว่า 26% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทยังเห็นถึงการเติบโตที่รวดเร็วของกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พีซี แท็บเล็ต อุปกรณ์สวมใส่ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงต่างๆ เช่นเดียวกัน

จออัจฉริยะ เดอะวิชั่น (The Vision) สมาร์ททีวีที่ประกอบด้วยนวัตกรรมซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ซึ่งเปิดตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 ก็ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นจากอุตสาหกรรมและผู้บริโภค                  การสรรค์สร้างอีโคซิสเต็มอันแข็งแกร่งที่มุ่งเน้นผู้บริโภคเป็นหลักช่วยส่งมอบประสบการณ์ไร้รอยต่ออันชาญฉลาดยิ่งขึ้นในทุกสถานการณ์การใช้งาน

สำหรับอีโคซิสเต็มด้านการให้บริการมือถือของหัวเว่ยก็มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันครอบคลุมกว่า 170 ประเทศและภูมิภาค และดึงดูดนักพัฒนากว่า 1.07 ล้านคนทั่วโลกที่ได้ลงทะเบียนร่วมพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของหัวเว่ยอีโคซิสเต็ม

[1] ข้อมูลทางการเงินทั้งหมดเป็นตัวเลขที่ยังมิได้ผ่านการตรวจสอบทางบัญชีตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 ได้แก่ 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ = 7.1292 หยวน