หัวเว่ยเผยข้อมูลรายงานดัชนีการเชื่อมต่อระดับโลก (GCI) ประจำปี 2019

ชี้การเชื่อมต่ออัจฉริยะ (Intelligent Connectivity) คือตัวเร่งใหม่ที่จะเสริมอัตราการเติบโตของจีดีพี(GDP)ให้สูงขึ้นได้
2019.11.19

เซินเจิ้น ประเทศจีน, 19 พฤศจิกายน พ.. 2552 ผลสำรวจที่น่าสนใจล่าสุดจากรายงานดัชนีการเชื่อมต่อระดับโลก (GCI) ของหัวเว่ยประจำปี 2019 ระบุว่าในยุคที่การเชื่อมต่ออัจฉริยะ (Intelligent Connectivity) ซึ่งทำงานผสมผสานกับ AI เริ่มส่งผลกระทบอย่างชัดเจนแก่เศรษฐกิจดิจิทัลและทำให้เกิดจุดเปลี่ยนด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น และหากประเทศใดที่ได้รับคะแนนในรายงานดัชนี GCI สูงกว่า 65 ซึ่งเป็นแต้มที่แสดงถึงการลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านการเชื่อมต่ออัจฉริยะ ประเทศนั้น ๆ สามารถคาดการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ได้มากกว่า 1% นอกจากนี้ ตัวชี้วัดความสำเร็จในยุคอัจฉริยะจะขึ้นอยู่กับศักยภาพด้านความร่วมมือกันในระดับโลกอีกด้วย

รายงานดัชนี GCI ฉบับปี 2019 ถือเป็นผลการรายงานประจำปีที่หก ได้ให้ความสำคัญในบทบาทของเทคโนโลยี AI ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันเทรนด์ “การเชื่อมต่ออัจฉริยะ” ส่วนอีกสามปัจจัยสำคัญคือ เทคโนโลยี Broadband, Cloud และ IoT ซึ่งทั้งสี่เทคโนโลยีมีแนวโน้มสูงที่จะเร่งภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นระดับประเทศ

ในปี 2016 รายงาน GCI ได้ชี้ให้เห็นถึงจุดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดเกิดใหม่ต่าง ๆ  ประเทศที่ได้รับคะแนนดัชนีถึง 35 แต้ม จะมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในภาค ICT ออกมาเป็นการเติบโตของ GDP แบบทวีคูณ รายงานดัชนี GCI 2019 ยังพบว่าแรงกระตุ้นของจุดเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลมากขึ้นในกลุ่มประเทศที่อยู่ในส่วนบนของกราฟ S-Curve ของรายงานดัชนี GCI อีกด้วย สำหรับประเทศที่มีคะแนนดัชนี GCI สูงกว่า 65 แต้ม จะสังเกตได้ว่ากราฟ S-Curve จะสูงชันขึ้นอีก โดยประเทศเหล่านี้กำลังขยับตัวเข้าสู่วัฏจักรการเติบโตครั้งใหม่ ซึ่งประเทศที่มีค่าดัชนี GCI สูงสุดจะสามารถใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่ออัจฉริยะเพื่อเร่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เร็วขึ้นกว่าประเทศอื่น ๆ ทั้งหมด 2.4 เท่าในทุกการพัฒนาค่าดัชนี GCI 

สำหรับประเทศไทยได้ค่าดัชนี 43 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 54 ของรายงานดัชนี GCI 2019 โดยผลสำรวจครั้งนี้จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแนวโน้มนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เป็นประเทศแรกๆ และมีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (broadband assessment) ที่โดดเด่น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังทำคะแนนได้สูงสุดในด้านสัดส่วนผู้ใช้สมาร์ทโฟนและจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านอุปกรณ์พกพาอีกด้วย จึงทำให้ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าจับตามอง

GCI 2019-S-Curve


ศักยภาพที่เพิ่มขึ้นของ AI สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ไม่ใช่เพียงแค่เศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมต่ออัจฉริยะ รายงานดัชนี GCI 2019 ยังพบว่าในหลายประเทศที่ทุกระดับของการพัฒนาด้านดิจิทัลสามารถเข้าถึง “ศักยภาพที่เพิ่มขึ้นของ AI” ในฐานะที่เป็นตัวเร่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เมื่อเทคโนโลยี AI ดังกล่าวมีการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและองค์กรต่าง ๆ แล้ว

แม้แต่ประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยี (Frontrunners) เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ชั้นนำในระดับโลก ศักยภาพของเทคโนโลยี AI ก็ยังอยู่แค่ในระดับเริ่มต้นเท่านั้น ประเทศที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ (Adopters) และประเทศที่เพิ่งเริ่มต้นปรับใช้เทคโนโลยี (Starters) อย่างจีน มาเลเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์และสเปนก็ไม่ได้ถือว่าล่าช้าแต่อย่างใด เนื่องจากประเทศเหล่านั้นต่างเร่งผลักดันเทคโนโลยี AI ให้เร็วที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้เช่นกัน

AI's Upside potential


เสริมพลังการเชื่อมต่ออัจฉริยะด้วยความร่วมมือในระดับโลก

รายงานดัชนี GCI 2019 ยังได้ชี้ให้เห็นอีกหนึ่งแนวทางที่กลุ่มประเทศที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ (Adopters) และประเทศที่เพิ่งเริ่มต้นปรับใช้เทคโนโลยี (Starter) สามารถกระตุ้นความสำเร็จทางเศรษฐกิจได้ด้วยความร่วมมือกันในระดับโลก เพราะการเชื่อมต่ออัจฉริยะต้องพึ่งพาอีโคซิสเต็มในระดับโลกจึงจะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยรายงานดัชนี GCI 2019 ได้ชี้ถึงบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องจาก 5 ด้านที่สามารถร่วมมือกันแบบข้ามภาคส่วนเพื่อกำจัดการทำงานแบบไซโลหรือไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ระหว่างภายในองค์กร และนำไปสู่ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่รวดเร็วขึ้น ได้แก่ ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในหน่วยงาน นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล นักรวบรวมข้อมูล บริษัท ICT ต่าง ๆ และผู้บริโภค

ไม่ว่าการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศนั้น ๆ จะอยู่ในระดับใด ผู้กำหนดนโยบายจะต้องมองอย่างเป็นกลางที่สุดเพื่อหาจุดแข็งทางเศรษฐกิจของชาติ และตัดสินใจว่าจะเข้ากับอีโคซิสเต็มของการเชื่อมต่ออัจฉริยะและได้รับประโยชน์จากการเชื่อมต่อดังกล่าวได้อย่างไร

นายเคลวิน จาง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดด้านโครงสร้างพื้นฐาน ICT ของหัวเว่ย กล่าวว่า “เราเห็นว่าการหลอมรวมของเทคโนโลยี 5G, AI และ Cloud นั้น ได้สร้างนิยามใหม่ของการเชื่อมต่อ การเชื่อมต่ออัจฉริยะช่วยเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เร็วขึ้น ดังนั้น รัฐบาลและผู้นำอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาปรับใช้และประเทศที่เพิ่งเริ่มต้นปรับใช้เทคโนโลยี ควรนำเทคโนโลยีใหม่ไปใช้ จัดลำดับแผนงานด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น และใช้ประโยชน์จากความร่วมมือกันในระดับโลก ขณะเดียวกัน เราก็ตระหนักว่า การเชื่อมต่ออัจฉริยะอาจจะเป็นคำตอบสำหรับการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและหยั่งรากลึกสำหรับหลายๆ สังคม รวมถึงสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง และช่องว่างทางชนชั้นระหว่างคนรวยกับคนจน หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี แอปพลิเคชัน และทักษะต่าง ๆ ได้ และส่งมอบประโยชน์จากการเชื่อมต่ออัจฉริยะไปสู่ทุกคน ทุกครอบครัว และทุกองค์กร”

รายงานดัชนี GCI ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกกับผู้กำหนดนโยบาย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น โดยทั้ง 79 ประเทศที่ได้รับการประเมินโดยรายงานดัชนี GCI 2019 คิดเป็นสัดส่วน 95% ของค่าจีดีพี(GDP)ทั่วโลก และ 84% ของประชากรทั่วโลก

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานดัชนี Global Connectivity Index 2019 สามารถเข้าชมได้ที่

http://www.huawei.com/minisite/gci/en/