เหวยฟาง ต้นแบบสมาร์ทซิตี้จีน

2018.05.23


Zhang Baoqing ผู้อำนวยการโครงการเหวยฟางสมาร์ทซิตี้

เหวยฟาง เมืองโบราณในคาบสมุทรซานตงที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นแหล่งกำเนิดว่าวเมื่อราว 2,400 ปีก่อน มีตำนานเล่าว่า ม่อจื๊อ นักปรัชญาชาวจีนได้ประดิษฐ์ว่าวขึ้นมาเพื่อใช้ส่งสาร  ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีไอโอทีมาใช้เพื่อพัฒนาเมืองแห่งนี้ให้เป็นสมาร์ทซิตี้หรือเมืองอัจฉริยะอันทันสมัย

เหวยฟางเป็นเมืองใหญ่อันดับสองในมณฑลซานตง มีพื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร  ในปี 2016 มีประชากรราว 9 ล้านคน ถือเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 32 ของจีน โดยเมื่อปี 2014 เหวยฟางได้ตั้งหน่วยงานด้านสมาร์ทซิตี้ขึ้นมาเพื่อดูแลด้านการบริหารจัดการเมือง ส่งเสริมด้านดิจิทัล และสร้างเมืองอัจฉริยะรูปแบบใหม่เพื่อเตรียมพร้อมรับอนาคต

ไม่ต้องมีการ์ด ไม่ต้องใช้บัตรประจำตัว ไม่ต้องพกเงินสด

เมืองเหวยฟางได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น Weifang V แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการสมาร์ทซิตี้ต่าง ๆ ให้ชาวเมืองใช้งานได้ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว  ภายในแอพได้รวมแหล่งข้อมูลสาธารณะต่างๆ อาทิ การศึกษา  การดูแลสุขภาพ การขนส่ง การท่องเที่ยว และการติดต่อหน่วยงานราชการต่าง ๆ ไว้ในที่เดียว

จากกระแสความนิยมโมบายล์เพย์เมนต์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่าง WeChat และ Alipay เหวยฟางได้นำมาต่อยอดไปสู่แพลตฟอร์ม Cloud Pay บริการทางการเงินออนไลน์ ที่พร้อมให้บริการบนแอพ V ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถชำระค่าบริการด้านการรักษาพยาบาล การศึกษา สาธารณูปโภค บริการจากภาครัฐ รวมถึงค่าบริการต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี นอกจากนี้ Cloud Pay ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ธนาคารคู่ค้าในการปล่อยเงินกู้ให้กับผู้อยู่อาศัย รวมถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ แก่ผู้ค้าปลีกระบบออนไลน์ในประเทศอีกด้วย

เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2017 ฝ่ายดูแลด้านความปลอดภัยสาธารณะของมณฑลซานตง ได้ยอมรับให้มีการใช้งานแพลตฟอร์ม Zhiji ในเมืองเหวยฟางอย่างเป็นทางการ  โดยผู้ใช้จะต้องทำการยืนยันตัวตนให้เรียบร้อยด้วยโทรศัพท์มือถือเพื่อรับรหัส ID อิเล็กทรอนิกในรูปแบบของ QR โค้ด ซึ่งจะโยงข้อมูลกับระบบสำมะโนด้านความปลอดภัยสาธารณะ และด้วย e-ID นี้ ประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องพกบัตรประจำตัวประชาชนติดตัวอีกต่อไป นับเป็นการคิดค้นทางนวัตกรรมครั้งสำคัญในด้านการยืนยันตัวตนผ่านออนไลน์และถือเป็นครั้งแรกของจีน โดยกระทรวงความปลอดภัยสาธารณะได้อนุมัติและเริ่มใช้งานอย่างจริงจังแล้ว 

เมื่อการใช้แพลตฟอร์ม Zhiji Cloud Pay ได้รับการอัพเกรดเข้ากับ V Pass ซึ่งเป็นสมาร์ทซิตี้พาสเพียงอันเดียวของเหวยฟาง ใบเบิกทางนี้จะมีข้อมูลเลขประจำตัว ใบอนุญาตขับขี่ บัตรประกันสุขภาพ บัตรธนาคาร  บัตรโดยสาร บัตรเช่าจักรยาน บัตรผ่านเข้าพื้นที่ บัตรห้องสมุด บัตรเดินทาง รวมถึงบัตรอื่นๆ ใส่ไว้ในโมบายล์แอพ และด้วยแอพนี้เพียงแอพเดียว ประชาชนก็สามารถดำเนินการทุกอย่างได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเดินทางทั่วเมือง หรือจัดการจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งช่วยให้ชีวิตสะดวกสะบายมากยิ่งขึ้น

เหวยฟาง ถือเป็นเมืองแห่งที่สามในจีนถัดจากเซิ่นเจิ้นและหางโจวที่สามารถใช้โมบายเพย์เมนท์ได้กับค่ารักษาพยาบาล  และเป็นเมืองแห่งแรกที่ใช้ e-ID  ทำให้เหวยฟางได้เริ่มรณรงค์แคมเปญ “ไม่ต้องมีการ์ด ไม่ต้องใช้บัตรประจำตัว ไม่ต้องพกเงินสด”  ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน V Pass อย่างจริงจังถึง 600,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคนในสิ้นปีนี้ ด้วยขอบเขตการใช้งานที่ครอบคลุมในระบบดิจิทัลและสะดวกต่อการพกพา แอพ V Pass สามารถใช้แทนบัตรจริงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงทำให้เป็นที่นิยมในหมู่คนทั่วไปอย่างรวดเร็ว

แอพ V Pass ของเมืองเหวยฟางถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเมืองอัจฉริยะในเหวยฟาง ช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ มาเป็นการใช้งานบนโมบายล์อินเทอร์เน็ตแทน หากมองกลับไปในสมัยก่อนนั้น จะพบว่าโปรแกรมบนเว็บไซต์หลายๆ ตัว ล้วนเป็นคุณสมบัติตั้งต้นของสมาร์ทซิตี้ แต่ไม่สะดวกต่อการใช้งานมากเท่าโมบายล์แอพนั่นเอง

เหวยฟางนำร่องเมืองอื่น ๆ ในจีน

ด้วยความคิดอันปราชญ์เปรื่องของปรมาจารย์ม่อจื๊อ เหวยฟางได้กลายเป็นเมืองแห่งแรกของจีนที่ติดตั้งระบบควบคุมแสงไฟอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยี NB-IoT ของหัวเว่ยเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2016  สี่เดือนหลังจากที่ 3GPP ให้การรับรองมาตรฐาน NB-IoT ที่หัวเว่ยเป็นผู้นำด้านนี้ ให้เป็นมาตรฐาน IoT แห่งอนาคต

โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 รัฐบาลท้องถิ่นของเมืองเหวยฟางและหัวเว่ยได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือในการสร้างแอพพลิเคชั่น Weifang IoT อันนำไปสู่การเปิดตัวศูนย์วิจัยและพัฒนา Huawei-Weifang IoT Application Innovation และ Huawei-Weifang IoT Industrial Alliance และด้วยการสนับสนุนภายใต้การเป็นพันธมิตรนี้ หัวเว่ยจะสร้าง IoT Industrial Park และทำงานร่วมกับเมืองเหวยฟางเพื่อสร้างเมืองต้นแบบที่ใช้เทคโนโลยี NB-IoT แห่งแรกของประเทศ

ในเดือนตุลาคม 2017 หัวเว่ยได้ดำเนินการสร้างเน็ตเวิร์ค NB-IoT ครอบคลุมทั่วทั้งเมืองเป็นที่เรียบร้อย โดยมีกลยุทธ์ One Network, One Platform และ Multiple Applications มีสถานีฐาน 1,574 แห่งทั่วเมือง ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 94 ของเมืองเหวยฟาง  

ในขณะเดียวกัน หัวเว่ยก็ได้เริ่มติดตั้งแพลตฟอร์มบริการสาธารณะ IoT ทั้งเมือง ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มแรกของโลก โดยบนแพลตฟอร์มนี้จะมีแอพพลิเคชั่นรวม 12 แอพด้วยกัน อาทิ ระบบจอดรถอัจฉริยะ, ระบบ e-Government อัจฉริยะ, ระบบอินเทอร์เน็ตสำหรับยานพาหนะ, อาคารอัจฉริยะ และระบบแสงไฟอัจฉริยะ

แพลตฟอร์มบริการสาธารณะ IoT ของเมืองเหวยฟาง จะทำงานผนวกกับแอพพลิเคชั่น IoT ของอุตสาหกรรม ช่วยแก้ปัญหาการกระจัดกระจายของข้อมูลที่เกิดขึ้นกับแอพพลิเคชั่น IoT ของเมืองต่างๆ โดยจะเก็บข้อมูลใหม่ๆ บิ๊กดาต้าที่มีมูลค่าสูง และด้วยการสนับสนุนของแพลตฟอร์ม จะช่วยลดต้นทุนการพัฒนาแอพพลิคชั่นต่างๆ  ลงได้

แพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการข้อมูล IoT ได้จากส่วนกลางผ่านการเชื่อมต่อของดีไวซ์และการผนวกรวมดาต้า IoT  ซึ่งจะช่วยให้ระบบแอพพลิเคชั่น IoT สามารถแบ่งปันดาต้าข้ามแอพพลิเคชั่น ข้ามหน่วยงานได้ และเกิดการประมวลผลด้วยข้อมูลรวมศูนย์เพื่อประกอบการตัดสินใจได้

IoT Weifang

เมื่อการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม Huawei-Weifang IoT ดำเนินการเสร็จสิ้น จะมีศูนย์โอเพ่นแล็บ IoT เพื่อใช้ทดสอบผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นต่างๆ สำหรับโครงการ IoT Weifang  นอกจากนี้ ในโถงนิทรรศการ IoT จะจัดแสดงแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่หัวเว่ยและพันธมิตรได้พัฒนาขึ้นมา 

ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งนี้ เราจะพัฒนาต่อยอดความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ   ศูนย์ฯ แห่งนี้จะช่วยผู้ประกอบการในท้องถิ่นพัฒนาธุรกิจและศักยภาพ IoT ให้สามารถแข่งขันกับโครงการวิจัยระดับมณฑลและระดับชาติ เพื่อผลักดันให้มาตรฐานของ IoT Weifang กลายมาเป็นมาตรฐานของประเทศ

การก่อสร้าง Weifang IoT Industrial Park เตรียมจะเริ่มขึ้นแล้ว ด้วยการสนับสนุนทางด้านทรัพยากรจากหัวเว่ย อาทิ  แบรนด์โปรไฟล์และบริการคลาวด์ชั้นนำ เรากำลังจะสร้างสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจที่ผสมผสานกับโครงการสร้าง IoT Weifang  เพื่อดึงดูดธุรกิจวิจัยและการผลิตต่างๆ เข้ามาในปาร์คแห่งนี้

สมาพันธ์ Huawei-Weifang Smart City IoT Industry ได้จับมือกับบริษัทพันธมิตรด้าน IoT ของจีนและระดับโลก 52 รายในด้านต่างๆ อาทิ การขนส่งเมือง, ระบบแสงไฟฟ้าของเมือง, การบริหารจัดการและบริการต่างๆ ในเมือง, การป้องกันด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา, การเกษตร, การผลิต, คลังสินค้าและโลจิสติกส์ 

เขตฉางเล่อ เมืองเหวยฟาง ได้รับเลือกให้เป็นเขตนำร่องโครงการ IoT Weifang ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ 39 แห่ง องค์กรและสถาบันต่างๆ อีก 17แห่ง เพื่อดำเนินการวิจัยค้นคว้าแอพพลิเคชั่น NB-IoT Smart Cityบนแพลตฟอร์มบริการสาธารณะ IoT Weifang งานนี้เสร็จสมบูรณ์สอดคล้องตามกลยุทธ์การพัฒนาเมืองโดยรวม  โดยจะมีแอพพลิเคชั่น IoT ทั้งหมด 18 แอพ รวมถึง e-Government และสมาร์ทโซลูชั่นต่างๆ สำหรับที่จอดรถ, ระบบแสงไฟบนถนน และสายสื่อสาร

จากยุคสมัยที่อินเทอร์เน็ตบนคอมพิวเตอร์ช่วยให้เกิดความสมมาตรของข้อมูล ต่อมาโมบายล์อินเทอร์เน็ตก็ได้ทำให้เกิดการเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพ  มาจนถึงปัจจุบัน IoT จะทำให้โลกเชื่อมโยงกันได้อย่างเต็มรูปแบบและทำให้เมืองอัจฉริยะมีความชาญฉลาดอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดเบื้องหลังที่ว่าการสร้างเมืองอัจฉริยะด้วย IoT ที่เชื่อมโยงทุกสิ่งอย่างนั้นจะทำให้เกิดระบบสมองที่โยงใยทั่วเมือง และควบคุมได้จากศูนย์บริหารกลางที่เป็นเสมือนสมอง

ระหว่างที่ดำเนินโครงการสร้าง IoT Weifang   TelChina ได้เป็นพันธมิตรหลักของโครงการจากการให้ความร่วมมือด้านกลยุทธ์กับหัวเว่ย ฝ่ายทรัพยากรน้ำของมณฑลซานตง (Shandong Provincial Department of Water Resources) ได้อาศัยข้อมูลเชิงลึก เพื่อช่วยสร้างระบบบริหารแม่น้ำหลักโดยใช้แพลตฟอร์ม Weifang IoT

สำหรับเมืองเหวยฟางแล้ว IoT จึงเป็นนิยามสำหรับยุคใหม่ของเมืองอัจฉริยะ



ดาวน์โหลดใบสมัคร