หัวเว่ยผสานเทคโนโลยี เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในเอเชียแปซิฟิก

2020.10.06


เซี่ยงไฮ้, ประเทศจีน, 6 ตุลาคม 2563 – หัวเว่ยเปิดเผยการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ณ งานประชุมสุดยอด HUAWEI CONNECT 2020 ที่ผ่านมา โดยหวังให้เกิดอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่งและโซลูชันสำหรับใช้งานเฉพาะในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อสังคมอัจฉริยะในอนาคตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

กระบวนทัศน์ใหม่นี้ประกอบด้วยอีโคซิสเต็มดิจิทัลที่สร้างและแบ่งปันมูลค่าให้กับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยการทำงานผสานกันผ่านเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ เทคโนโลยีประมวลผลคอมพิวเตอร์ Cloud ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแอปพลิเคชันต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรม

นายเจย์ เฉิน (Jay Chen) รองประธานหัวเว่ยเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ในปี 2020 เมื่อโครงข่าย 5G แพร่หลายทั่วโลก เทคโนโลยีการเชื่อมต่อ คลาวด์ AI เทคโนโลยีประมวลผลคอมพิวเตอร์ และแอปพลิเคชันต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรมล้วนผสานกันและสร้างโอกาสนานัปการอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ให้กับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การผสาน 5 ขอบข่ายเทคโนโลยีนี้จะเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม การเงิน หรือพลังงาน และสร้างมูลค่าใหม่ให้กับภูมิภาคของเรา”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเอกสาร IDC Worldwide Semiannual Digital Transformation Spending Guide ระบุว่าในปี 2562 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใช้จ่ายงบประมาณไปกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมากกว่า 380,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีแบบสะสม (CAGR) ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2565 จะอยู่ที่ 17.4%

“ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตด้านเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลก อีกทั้ง 60% ของประชากรโลกและ 50% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกอยู่ในภูมิภาคนี้ ภูมิภาคของเราไม่เพียงเป็นผู้นำด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลของโลก แต่ยังมีโอกาสมหาศาลที่จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้วยการผสานเทคโนโลยีสำคัญใหม่ๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน” นายเจย์ เฉินกล่าว

หัวเว่ยตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและยังคงเดินหน้าสร้างอีโคซิสเต็มในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างต่อเนื่องผ่านหลากหลายโครงการ ภายในงาน Asia Pacific Ascend Ecosystem Online Forum หัวเว่ยได้เผยรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ APAC Ascend Partner Program ที่มีเป้าหมายในการสร้างอีโคซิสเต็มของ AI ที่พร้อมทั้งนวัตกรรมและมีความยั่งยืน โครงการดังกล่าวเข้าถึงพาร์ทเนอร์ด้านซอฟต์แวร์ (ISV) มากกว่า 100 ราย รวมถึงการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือถึง 27 ครั้ง กับสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคด้วยเช่นกัน

จากโครงการ Spark ที่จัดขึ้นเพื่อบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี ได้ต่อยอดเป็นโครงการ Brilliant Plan ที่เชื่อมต่อบริษัทอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมระดับโลกเข้ากับศูนย์ 5G Ecosystem Innovation Center เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนั้น หัวเว่ยยังสร้างโครงข่ายเพื่อสนับสนุนอีโคซิสเต็ม 5G จาก 5 ขอบข่ายเทคโนโลยีหลักในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคอีกด้วย

ด้านการแก้ไขปัญหาภาคแรงงานของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค หัวเว่ยได้ริเริ่มหลายโครงการ อาทิ การจัดตั้ง HUAWEI ASEAN Academy ในประเทศมาเลเซีย และ AI Academy ในประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้บริการด้านการศึกษาและบ่มเพาะบุคลากรด้านไอซีที โดยในปัจจุบันหัวเว่ยมีศูนย์การเรียนรู้กว่า 103 แห่งในภูมิภาค ซึ่งนายเจย์ เฉิน ได้เผยถึงเป้าหมายการพัฒนาบ่มเพาะบุคลากรไอซีทีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคให้ได้อย่างน้อย 200,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปีผ่านโครงการฝึกอบรมเหล่านี้ของหัวเว่ย 

“หัวเว่ยเชื่อว่าการทำงานร่วมกันระหว่างขอบข่ายเทคโนโลยีสำคัญทั้ง 5 ไม่เพียงแต่จะสร้างโอกาสสำหรับหัวเว่ย แต่ที่สำคัญคือเป็นการกระจายโอกาสสู่ทุกภาคส่วน เราหวังที่จะเติบโตไปพร้อม ๆ กับพาร์ทเนอร์ และทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากมูลค่าใหม่นี้” นายเจย์ เฉิน กล่าว


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับHUAWEI CONNECT สามารถค้นหาได้ที่ https://www.huawei.com/en/events/huaweiconnect2020/
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 5 ขอบข่ายเทคโนโลยีสำคัญ สามารถค้นหาได้ที่ https://www.huawei.com/en/news/2020/9/guoping-huawei-connect-2020-shanghai
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Intelligent Twins สามารถค้นหาได้ที่ https://www.huawei.com/en/news/2020/9/huawei-intelligent-partners-all-scenario-intelligence